ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
      โรงเรียนปริยัติสามัญวัดสระเกศ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๒ หมู่ที่ ๕ ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์  จัดตั้งโดยพระครูบุรเขตพิทักษ์ (พระปริยัติพัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดไพรสณฑ์ศักดาราม พระอารามหลวง รองเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ รูปที่ 1 ในปัจจุบัน ๒๕63) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะอำเภอหล่มเก่าในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสามเณรได้แสวงหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมตามกำลังสติปัญญาและความสามารถของตัวเอง โดยพระครูบุรเขตพิทักษ์ ได้มีหนังสือขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนตามหนังสือขออนุญาตเลขที่ จอ ๑๖/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ยื่นเสนอต่ออธิบดีกรมการศาสนาในขณะนั้น และได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเรียนการตอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามใบอนุญาตเลขที่ ๑๐๘/๒๕๒๖ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๖ และด้วยความเห็นชอบของประธานสภาการศึกษาคณะสงฆ์ กระทรวงศึกษาธิการ
      โรงเรียนปริยัติสามัญวัดสระเกศ ได้เปิดทำการเรียนการสอนในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนปริยัติสามัญวัดสระเกศ”  ในปีแรกมีพระปลัดน้อย มหาเมโธ (พระครูอนุรักษ์พัชรธรรม เจ้าคณะอำเภอหล่มเก่า ในปัจจุบัน ๒๕๒๗) เป็นผู้จัดการโรงเรียน และพระครูบุรเขตพิทักษ์ดำรงตำแหน่ง “ครูใหญ่”  มีนักเรียนเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๓ การเรียนการสอนเป็นไปตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ และในปีการศึกษา ๒๕๓๐ พระครูบุรเขตพิทักษ์ เจ้าสำนักเรียนในขณะนั้น เห็นว่ามีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ต้องเดินทางไปเรียนที่ต่างอำเภอ หรือไม่ก็ลาสิกขากลับไปทำเกษตรกรรมตามเดิม ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสทางการศึกษาที่ดี จึงได้ดำริในอันที่จะขยายหลักสูตรการเรียนเพิ่มเติม จึงได้ดำเนินการขออนุญาตเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๐ และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ๖ ห้องเรียนขึ้นอีกหลังในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อรองรับกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งอาคารดังกล่าวใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของนักเรียนทั้งแผนกนักธรรม แผนกภาษาบาลี แผนกสามัญศึกษา และศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และยังใช้เป็นสถานที่อบรมประชาชนในด้านศีลธรรม จริยธรรม หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามเทศกาล